วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

กำเนิดปิโตเลียม




                  ปิโตรเลียม (Petroleum) คือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากซากพืชและซากสัตว์ที่ทับถมกันหลายแสนหลายล้านปี มักพบอยู่ในชั้นหินตะกอน (Sedimentray Rocks) ทั้งในสภาพของแข็ง ของเหลว และก๊าซ มีคุณสมบัติไวไฟเมื่อนำมากลั่น หรือผ่านกระบวนการแยกก๊าซ จะได้ผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ยางมะตอย และยังสามารถใข้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเคมีภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปุ๋ยเคมี พลาสติก และยางสังเคราะห์เป็นต้น


ปิโตรเลียม..เกิดขึ้นได้อย่างไร?                  ปิโตรเลียม เกิดจากการทับถมและแปรสภาพของซากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์นับหลายล้านปี ที่ตกตะกอนหรือถูกกระแสน้ำพัดพามาจมลง ณ บริเวณที่เป็นทะเลหรือทะเลสาบในขณะนั้น ถูกทับถมด้วยชั้นกรวด ทราย และโคลนสลับกันเป็นชั้นๆ เกิดน้ำหนักกดทับกลายเป็นชั้นหินต่างๆ ผนวกกับความร้อนใต้พิภพและการสลายตัวของอินทรีย์สารตามธรรมชาติ ทำให้ซากพืชและซากสัตว์กลายเป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ หรือที่เราเรียกว่า “ปิโตรเลียม” ดังนั้นเราจึงเรียกปิโตรเลียมได้อีกชื่อหนึ่งว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิล”









คุณสมบัติของปิโตรเลียม                  ปิโตรเลียม หรือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ที่สำรวจพบในแต่ละแห่งจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ตามองค์ประกอบของไฮโดรคาร์บอน และสิ่งเจือปนอื่นๆ ที่ผสมอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปิโตรเลียมและสภาพแวดล้อมของแหล่งที่เกิด เช่น ความกดดันและอุณหภูมิใต้พื้นผิวโลก
                  น้ำมันดิบ มีสถานะเป็นของเหลว โดยทั่วไปมีสีดำหรือสีน้ำตาล มีกลิ่นคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป แต่บางชนิดจะมีกลิ่นของสารผสมอื่นด้วย เช่น กลิ่นกำมะถัน และกลิ่นไฮโดรซัลไฟต์ หรือก๊าซไข่เน่า เป็นต้น
                  ก๊าซธรรมชาติเหลว มีสถานะเป็นของเหลว ลักษณะคล้ายน้ำมันเบนซิน ซึ่งก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่งจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับน้ำมันดิบ
                  ก๊าซธรรมชาติแห้ง มีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น


แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
                  ปิโตรเลียม จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีปัจจัยต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยหินต้นกำเนิด (Source Rocks) ซึ่งเป็นหินดินดาน (Shale) เมื่อถูกกดทับมากๆ จนเนื้อหินแน่นขึ้นจะบีบให้ปิโตรเลียมหนีขึ้นสู่ด้านบนไปสะสมอยู่ในหินอุ้มปิโตรเลียม (Reservoir Rock) จากปิโตรเลียมในหินอุ้มนี้หากไม่มีสิ่งใดกีดขวางก็จะซึมเล็ดลอดขึ้นสู่พื้นผิวและระเหยหายไปในที่สุด ดังนั้นการเกิดปิโตรเลียมต้องมีหินปิดกั้นปิโตรเลียม (Cap Rock) มาปิดกั้นไว้ จนเกินเป็น “แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม (Petroluem Trap)” ขึ้น


แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ1. แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่เกิดจากโครงสร้างทางธรณีวิทยา (Structural Trap)                  เป็นลักษณะโครงสร้างที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปของชั้นหิน เช่น การพับ (Folding) หรือการแตก (Faulting) หรือทั้งสองอย่างที่เกิดขึ้นกับหินอุ้มปิโตรเลียม (Reservoir Trap) และหินปิดกั้นปิโตรเลียม (Cap Rock) ที่มักจะสะสมน้ำมันไว้ ได้แก่

                  1.1 ชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมโครงสร้างรูปโค้งประทุนคว่ำ (Anticline Trap) เกิดจากการหักงอของชั้นหิน ทำให้ชั้นหินมีรูปร่างโค้งคล้ากระทะคว่ำหรือหลังเต่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะไหลขึ้นไปสะสมตัวอยู่บริเวณจุดสูงสุดของโครงสร้างและมีหินปิดกั้นวางตัวทับอยู่ด้านบน โครงสร้างแบบนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำมันได้ดีที่สุด จากสถิติทั่วโลกพบว่า กว่า 80% ของน้ำมันดิบทั่วโลกถูกกักเก็บอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบกระทะคว่ำนี้
                  1.2 ชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมโครงสร้างรูปรอยเลื่อนของชั้นหิน (Fault Trap)เกิดจากการหักงอของชั้นหิน ทำให้ชั้นหินเคลื่อนไปคนละแนว ซึ่งทำหน้าที่ปิดกั้นการเคลื่อนตัวของปิโตรเลียมไปสู่ที่สูงกว่า แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมักพบในโครงสร้างกักเก็บชนิดนี้

                  1.3 ชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมโครงสร้างรูปโดม (Salt Dome Trap)เกิดจากชั้นหินถูกดันให้โก่งตัวด้วยแร่เกลือจนเกิดลักษณะคล้ายกับโครงสร้างกระทะคว่ำอันใหญ่ และปิโตรเลียมจะมาสะสมตัวในชั้นหินกักเก็บฯ บริเวณรอบๆ โครงสร้างรูปโดม ตัวอย่างเช่น แหล่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย และตอนกลาง ของประเทศโอมาน เป็นต้น

2. แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมแบบเนื้อหินเปลี่ยนแปลง (Stratigraphic Trap)                  โดยอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงของหินอุ้มปิโตรเลียมเสียเอง ซึ่งเกิดขึ้นในลักษณะที่แนวหินอุ้มปิโตรเลียมดันออกไปเป็นแนวขนานเข้าไปแนวหินทึบ ทำให้เกิดเป็นแหล่งกักเก็บ หรืออาจเกิดขึ้นจากหินอุ้มปิโตรเลียมเปลี่ยนสภาพและองค์ประกอบกลายเป็นหินทึบขึ้นมาก และหุ้มส่วนที่เหลือเป็นแหล่งกักเก็บไว้


การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีขั้นตอนการสำรวจหาและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ดังนี้





1. การสำรวจทางธรณีวิทยา                  เริ่มด้วยการทำแผนที่ของบริเวณที่สำรวจโดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial Photograph) เพื่อให้ทราบว่าบริเวณใดมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาน่าสนใจควรที่จะทำการสำรวจต่อไปหรือไม่ จากนั้นนักธรณีวิทยาจะเข้าไปทำการสำรวจโดยการตรวจดู เก็บตัวอย่างชนิดของหินและซากพืชซากสัตว์ (Fossils) ซึ่งอยู่ในหิน เพื่อจะได้ทราบอายุ ประวัติความเป็นมาของบริเวณนั้น และวัดแนวทิศทางความเอียงเทของชั้นหินเพื่อคะเนหาแหล่งกักเก็บของปิโตรเลียม


2. การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์เป็นขั้นตอนการสำรวจหาโครงสร้างของหินและลักษณะของโครงสร้างที่อยู่ในพื้นผิวโลกโดยอาศัยวิธีการ ดังนี้
                  1. วิธีวัดค่าสนามแม่เหล็ก (Magnetic Survey)                       เป็นการวัดค่าความแตกต่างของสนามแม่เหล็กโลกซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือความสามารถในการดูดซึมแม่เหล็กของหินที่อยู่ใต้ผิวโลก ทำให้ทราบถึงลักษณะโครงสร้างของหินรากฐาน (Besement) โดยใช้เครื่องมือวัดค่าสนามแม่เหล็ก (Magnetometer) ทำให้เห็นโครงสร้างและขนาดของแหล่งกำเนิดปิโตรเลียมในขั้นต้น
                  2. วิธีวัดคลื่นความสั่นสะเทือน (Seismic Survey)                       เป็นการส่งคลื่นสั่นสะเทือนลงไปใต้ผิวดิน เมื่อคลื่นสั่นสะเทือนกระทบชั้นหินใต้ดินจะสะท้อนกลับมาบนผิวโลกเข้าที่ตัวรับคลื่นเสียง (Geophone หรือ Hydrophone) ซึ่งหินแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการให้คลื่นสั่นสะเทือนผ่านได้ต่างกัน ข้อมูลที่ได้จะสามารถนำมาคำนวณหาความหนาของชั้นหิน และนำมาเขียนเป็นแผนที่แสดงถึงตำแหน่ง และรูปลักษณะโครงสร้างของชั้นหินเบื้องล่างออกมาเป็นภาพในรูปแบบตัดขวาง 2 มิติ และ 3 มิติได้
                  3. วิธีวัดค่าแรงดึงดูดของโลก (Gravity Survey)                       เป็นการวัดค่าความแตกต่างแรงโน้มถ่วงของโลกอันเนื่องมากจากลักษณะและชนิดของหินใต้พื้นโลก หินต่างชนิดกันจะมีความหนาแน่นต่างกัน หินที่มีความหนาแน่นมากกว่าจะมีลักษณะโค้งขึ้นเป็นรูปประทุนคว่ำ ค่าของแรงดึงดูดโลกตรงจุดที่อยู่เหนือแกนของประทุนจะมากกว่าบริเวณริมโครงสร้างวิธีวัดคลื่นความสั่นสะเทือน  (Seismic Survey) 


3. การเจาะสำรวจ                  เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าบริเวณที่ทำการสำรวจปิโตรเลียมมีปิโตรเลียมอยู่หรือไม่ โดยใช้เครื่องมือเจาะที่มีลักษณะเป็นส่วนหมุน (Rotary Drilling) ติดตั้งอยู่บนฐานเจาะ ใช้หัวเจาะชนิดฟันเฟืองต่อกับก้านเจาะ ซึ่งจะสอดผ่านลงไปในแท่นหมุน ขณะเจาะเครื่องยนต์จะขับเคลื่อนแท่นหมุนพาก้านเจาะและหัวเจาะหมุนกัดบนชั้นหินลงไป น้ำโคลนซึ่งเป็นสารผสมพิเศษของโคลนผงสารเพิ่มน้ำหนักผงเคมี และน้ำ จะถูกสูบอัดลงไปในก้านเจาะเพื่อทำหน้าที่เป็นวัสดุหล่อลื่นและลำเลียงเศษดิน ทรายย จากหลุมเจาะขึ้นมาปากหลุม และยังเป็นตัวป้องกันไม่ให้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติดันขึ้นมาปากหลุมในขณะทำการเจาะด้วย เมื่อเจาะลึกมากๆ จะต้องใส่ท่อกรุกันหลุมพังโดยจะสวมกันเป็นช่วงๆ การเจาะสำรวจปิโตรเลียมมีขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้


                  ขั้นตอนการเจาะสำรวจ (Exploratory Welt) เป็นการเจาะสำรวจหลุมแรกบนโครงสร้างที่คาดว่าอาจเป็นแหล่งปิโตรเลียมแต่ละแห่ง
                  ขั้นตอนการเจาะหาขอบเขต (Appraisal Welt) เป็นการเจาะสำรวจเพิ่มเติมในโครงสร้างที่เจาะพบร่องรอยของปิโตรเลียมจากหลุมสำรวจฯ เพื่อหาขอบเขตพื้นที่ของโครงสร้างแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมแต่ละแห่งว่าจะมีปิโตรเลียมครอบคลุมเนื้อที่เท่าใด



4. การพัฒนาแหล่งและผลิตปิโตรเลียม                  เมื่อพบโครงสร้างแหล่งปิโตรเลียมแล้ว ก็จะทำการทดสอบการผลิต (Welt Testing) เพื่อศึกษาสภาพการผลิต คำนวณหาปริมาณสำรองและปริมาณที่จะผลิตในแต่ละวัน รวมทั้งปิโตรเลียมที่ค้นพบมาตรวจสอบคุณภาพ และศึกษาหาข้อมูลลักษณะโครงสร้างของแหล่งปิโตรเลียมและชั้นหินเพิ่มเติมให้แน่ชัด เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการออกแบบแท่นผลิต และวางแผนเพื่อการผลิตต่อไป

กระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ


 
          กระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ คือ การเปลี่ยนสภาพน้ำมันดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาดที่แตกต่างกันตามประเภทของการใช้ประโยชน์ เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซินรถยนต์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันหล่อลื่น จารบี ยางมะตอย และเคมีภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วย
           
          กระบวนการกลั่นน้ำมันของแต่ละโรงกลั่นอาจแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น คุณสมบัติของน้ำมันดิบที่นำมากลั่น ชนิดและคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ต้องการเทคโนโลยีของกระบวนการที่ใช้ แต่ทั่วไปกระบวนการกลั่นจะประกอบด้วยกรรมวิธีย่อยที่สำคัญดังนี้

การกลั่นแยก (Separation)
            กรรมวิธีการกลั่นแยกน้ำมันดิบ เป็นการแยกส่วนประกอบของน้ำมันดิบโดยวิธีทางกายภาพ ซึ่งจะใช้วิธีการกลั่นลำดับส่วน (Fractional Distillation) โดยใช้หลักความแตกต่างกันของจุดเดือดของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ในน้ำมันดิบ ซึ่งมีระดับแตกต่างกันตั้งแต่ –151 องศาเซลเซียสขึ้นไปจนถึงหลายร้อยองศาเซลเซียส ด้วยคุณสมบัตินี้เองทำให้สามารถแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ที่รวมตัวกันอยู่ในน้ำมันดิบออกมาได้ ด้วยการให้น้ำมันดิบกลั่นตัวที่อุณหภูมิต่าง ๆ กัน
            ในการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบจะถูกส่งผ่านเข้าไปในท่อเหล็กซึ่งเรียงแถวอยู่ในเตาเผา เพื่อให้ความร้อนจนน้ำมันดิบมีอุณหภูมิประมาณ 315-371 °C (600-700  °F) หลังจากนั้นน้ำมันดิบร้อนรวมทั้งไอร้อนจะไหลผ่านเข้าไปในหอกลั่นบรรยากาศ แล้วจะกลั่นตัวเป็นของเหลวบนถาดที่เรียงกันเป็นชั้น ๆ  หลายสิบชั้นในหอกลั่น ไอร้อนจะกลั่นตัวเป็นของเหลวในถาดชั้นใด ก็ขึ้นอยู่กับช่วงจุดเดือดของน้ำมันส่วนนั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเดือดต่ำสุดจะกลั่นตัวออกมาที่ส่วนบนสุดของหอกลั่น และถัดลงมาก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเดือดสูงขึ้นตามลำดับ ส่วนต่าง ๆ ของน้ำมันดิบที่แยกออกมาได้นี้เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์โดยตรง”
การเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี (Conversion)
           
            การเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี คือการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลหรือโครงสร้างทางเคมีใหม่ เพื่อให้ได้คุณภาพของน้ำมันเหมาะสมกับความต้องการใช้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น
                ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับจากการกลั่นลำดับส่วน อาจมีปริมาณไม่เพียงพอกับปริมาณที่ต้องการใช้ ฉะนั้นผู้กลั่นน้ำมันจึงต้องหาทางผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดให้ได้มากขึ้น โดยทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลจากน้ำมันชนิดอื่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ
                หลักพื้นฐานของกรรมวิธีแบบนี้ ได้แก่ การทำให้โมเลกุลของน้ำมันแตกตัวด้วยความร้อน (Thermal Cracking) หรือทำให้แตกตัวด้วยสารเร่งปฏิกิริยา (Catalytic Cracking) หรือการรวมโครงสร้างโมเลกุลของน้ำมันเบาให้ได้โมเลกุลที่หนักขึ้น (Polymerization) นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ อีก เช่น วิธีไอโซเมอไรเซชั่น (Isomerization) วิธีปฏิรูปด้วยสารเร่งปฏิกิริยา (Catalytic Reforming) ที่เป็นการจัดรูปโมเลกุลของน้ำมันใหม่เพื่อให้มีค่าออกเทนสูงขึ้น
 การปรับปรุงคุณภาพ (Treating)
                ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับจากกรรมวิธีการกลั่นลำดับส่วนและการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี บางครั้งอาจยังมีคุณภาพไม่เหมาะสม เนื่องจากมีสิ่งเจือปนที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กำมะถัน หรือสารแปลกปลอมต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องกำจัดออกด้วยวิธีการปรับปรุงคุณภาพเสียก่อน
                กรรมวิธีการปรับปรุงคุณภาพที่สำคัญ ได้แก่ การขจัดกำมะถันออกจากน้ำมันโดยใช้ก๊าซไฮโดรเจนทำปฏิกิริยากับสารกำมะถันในน้ำมันและใช้สารเร่งปฏิกิริยาเข้าช่วยเปลี่ยนก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งนอกจากคุณภาพจะดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้น้ำมันมีสีและกลิ่นที่ดีขึ้นด้วย
การผสม (Blending)
                การผสม คือการนำน้ำมันชนิดต่าง ๆ ที่ผ่านกรรมวิธีดังกล่าวข้างต้นมาผสมกันตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น การผสมน้ำมันเบนซินให้ได้ค่าออกเทนตามมาตรฐาน


*************************************
ที่มา แผนกวิชาการน้ำมัน  อจช. โทร.66641
ปรับปรุงโดย:: สังวาลย์ หจข-ช. กศพ-ช. โทร.66618 
ปรับปรุงครั้งล่าสุด: 08/06/2009

แก๊สธรรมชาติ


          ก๊าซธรรมชาติ คือ ส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอน และสิ่งเจือปนต่างๆในสภาวะก๊าซ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่พบในธรรมชาติ ได้แก่ มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน เป็นต้น สิ่งเจือปนอื่นๆที่พบในก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนไดซัลไฟด์ ฮีเลียม ไนโตรเจนและไอน้ำ เป็นต้น การที่ก๊าซธรรมชาติได้ชื่อว่าเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเนื่องจากเป็นสารที่มีส่วนประกอบของอะตอม 2 ชนิด คือ ไฮโดรเจน (H) กับ คาร์บอน (C) รวมตัวกันในสัดส่วนของอะตอมที่ต่างๆกัน โดยเริ่มตั้งแต่สารประกอบไฮโดรคาร์บอนอันดับแรกที่มีคาร์บอนเพียง 1 อะตอม กับ ไฮโดรเจน 4 อะตอม มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า "ก๊าซมีเทน"
          ก๊าซธรรมชาติ ที่ได้จากแต่ละแหล่งอาจประกอบด้วยก๊าซมีเทนล้วนๆ หรืออาจจะมีก๊าซไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่นๆปนอยู่บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแหล่งธรรมชาติ แต่ละแห่งเป็นสำคัญ แต่โดยทั่วไปแล้ว ก๊าซธรรมชาติจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนตั้งแต่ 70 %ขึ้นไป และมีก๊าซไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่นปนอยู่บ้าง ก๊าซธรรมชาติที่ประกอบด้วยมีเทนและอีเทนเกือบทั้งหมด เรียกว่า “ก๊าซแห้ง (dry gas)” แต่ถ้าก๊าซธรรมชาติใดมีพวก โพรเพน บิวเทน และพวกไฮโดรคาร์บอนเหลว หรือก๊าซโซลีนธรรมชาติ เช่น เพนเทน เฮกเทน ฯลฯ ปนอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง เรียกก๊าซธรรมชาตินี้ว่า ”ก๊าซชื้น (wet gas)”
          ก๊าซธรรมชาติ ที่ประกอบด้วยมีเทนหรืออีเทน หรือที่เรียกว่าก๊าซแห้งนั้น จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ดังนั้น การขนส่งจึงจำเป็นต้องวางท่อส่งก๊าซ ส่วนก๊าซชื้นที่มีโพรเพนและบิวเทน ซึ่งทั่วไปมีปนอยู่ประมาณ 4 – 8 เปอร์เซ็นต์ จะมีสถานะเป็นก๊าซ ที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ เช่นกัน เราสามารถแยกโพรเพน และบิวเทน ออกจากก๊าซธรรมชาติได้ แล้วบรรจุลงในถังก๊าซ เรียกก๊าซนี้ว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas หรือ LPG ซึ่งก็คือ ก๊าซหุงต้มที่เราใช้กันในครัวที่บ้านนั่นเอง)
          ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลวหรือก๊าซโซลีนธรรมชาติ ซึ่งเรียกกันว่า "คอนเดนเซท" (Condensate) คือ พวกไฮโดรคาร์บอนเหลว ได้แก่ เพนเทน เฮกเซน เฮปเทน และอ๊อกเทน ซึ่งมีสภาพเป็นของเหลว เมื่อผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อ บนแท่นผลิต สามารถแยกออกจากก๊าซธรรมชาติ ได้บนแท่นผลิต การขนส่งอาจลำเลียงทางเรือหรือส่งไปตามท่อได้

คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ

          ก๊าซธรรมชาติเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วย ธาตุถ่านคาร์บอน (C) กับธาตุไฮโดรเจน (H)จับตัวกันเป็นโมเลกุล โดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตตามชั้นหิน ดิน และในทะเลหลายร้อยล้านปีมาแล้ว เช่นเดียวกับน้ำมัน และเนื่องจากความร้อนและความกดดันของผิวโลกจึง แปรสภาพเป็นก๊าซ คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น (ยกเว้นกลิ่นที่เติมเพื่อให้รู้เมื่อเกิดการรั่วไหล) และไม่มีพิษ ในสถานะปกติมีสภาพเป็นก๊าซหรือไอที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ โดยมีค่าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่า อากาศจึงเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้ บนพื้นราบ

ก๊าซ NGV/CNG

          NGV หรือ Natural Gas Vehicles คือ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ เกิดขึ้นจากการนำก๊าซธรรมชาติ (ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน) มาอัดจนมีความดันสูง ประมาณ 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว (เป็นแรงดันที่ค่อนข้างสูงมากเท่ากับ 240 เท่าของความดันบรรยากาศ) แล้วนำไปเก็บไว้ในถัง ที่มีความแข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ เช่น เหล็กกล้า เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินหรือดีเซลในรถยนต์ประเภทต่างๆ ซึ่งสากลเรียกว่า Compressed Natural Gas (CNG) หรือ ก๊าซธรรมชาติอัด

คุณสมบัติพิเศษของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

          1. สะอาด เนื่องจาก NGV มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และมีคุณสมบัติเป็นก๊าซทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติมีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น NGV จึงนับเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีระดับการปล่อยสารพิษที่ต่ำ สามารถลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ถึงร้อยละ 50-80 ลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ร้อยละ 60-90, ลดก๊าซไฮโดรคาร์บอนได้ร้อยละ 60-80 และไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองหรือเขม่าจากท่อไอเสีย (ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Green House Effect )
          2. ปลอดภัย ก๊าซ NGV นับว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เพราะก๊าซ NGV เบากว่าอากาศ ในขณะที่ก๊าซหุงต้มและน้ำมันเบนซินหรือดีเซลหนักกว่าอากาศ ดังนั้น เมื่อเกิดรั่วไหล ก๊าซ NGV จะไม่สะสมอยู่บนพื้นดินจนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่นๆ
          นอกจากนี้ อุณหภูมิที่ก๊าซ NGV จะลุกติดไฟในอากาศเองได้ (เมื่อมีความเข้มข้นของเชื้อเพลิงพอ) สูงถึง 650 องศาเซลเซียส ในขณะที่ก๊าซหุงต้มจะติดไฟได้เองที่ 481 องศาเซลเซียส น้ำมันเบนซินที่ 275 องศาเซลเซียส และน้ำมันดีเซลที่ 250 องศาเซลเซียส ส่วนความเข้มข้นขั้นต่ำสุดที่จะลุกติดไฟได้เองของก๊าซ NGV จะต้องมีปริมาณสะสมถึง 5% ในขณะที่ก๊าซหุงต้มจะอยู่ที่ 2.0% จากคุณสมบัติข้างต้นก๊าซ NGV จึงมีโอกาสเกิดการลุกไหม้ได้ยากกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ นอกจากนี้ หากมีการรั่วไหลจะเกิดเสียงดังเนื่องจากมีความดันสูงจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยได้อย่างดี

การใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ

          ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ก๊าซธรรมชาติ มีก๊าซหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์แตกต่างกันไป คือ ก๊าซมีเทน อีเทน โพรเพน และบิวเทน ก๊าซพวกนี้เป็นสารไฮโดรคาร์บอนทั้งสิ้น เมื่อจะเอามาใช้ต้องแยกก๊าซออกจากกันและกันเสียก่อน จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงแยก/แปรสภาพก๊าซธรรมชาติ 2 แห่งด้วยกันคือ
          - โรงแยกก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง
          - โรงแยกก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช
          กระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม และให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด จะแตกต่าง จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน ที่เริ่มต้นการกลั่น ด้วยการแยกองค์ประกอบน้ำมัน ส่วนที่เบาที่สุด ออกมาก่อน ขณะที่การแยกก๊าซธรรมชาตินั้น สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ส่วนที่หนักที่สุด จะถูกแยกออกเป็นลำดับแรก ผลิตภัณฑ์ที่ได ้จากโรงแยกแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ สามารถจำแนกตามลักษณะ ของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่แยกออก และนำไปใช้ประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตอื่น ๆ ดังนี้
1. ก๊าซมีเทน (C1) : ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง เรียกว่าก๊าซธรรมชาติอัด สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ รู้จักกันในชื่อว่า “ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์” (Natural Gas for Vehicles : NGV)
2. ก๊าซอีเทน (C2) : ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น สามารถนำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกชนิดต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้แปรรูปต่อไป
3. ก๊าซโพรเพน (C3) และก๊าซบิวเทน (C4) : ก๊าซโพรเพนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นได้เช่นเดียวกัน และหากนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนมาผสมกัน อัดใส่ถังเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas : LPG) หรือที่เรียกว่าก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ และใช้ในการเชื่อมโลหะได้รวมทั้งยังนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย โอ้โฮ! มีประโยชน์มากจริงเลยน่ะ
4. ไฮโดรคาร์บอนเหลว (Heavier Hydrocarbon): อยู่ในสถานะที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ เมื่อผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อบนแท่นผลิต สามารถแยกจากไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซบนแท่นผลิต เรียกว่า คอนเดนเสท (Condensate) สามารถลำเลียงขนส่งโดยทางเรือหรือทางท่อ นำไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปต่อไป
5. ก๊าซโซลีนธรรมชาติ : แม้ว่าจะมีการแยกคอนเดนเสทออกเมื่อทำการผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อบนแท่นผลิตแล้ว แต่ก็ยังมีไฮโดรคาร์บอนเหลวบางส่วนหลุดไปกับไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซ เมื่อผ่านกระบวนการแยกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติแล้ว ไฮโดรคาร์บอนเหลวนี้ก็จะถูกแยกออก เรียกว่า ก๊าซโซลีนธรรมชาติ หรือ NGL (natural gasoline) และส่งเข้าไปยังโรงกลั่นน้ำมัน เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปได้เช่นเดียวกับคอนเดนเสท และยังเป็นตัวทำละลาย ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภทได้เช่นกัน
6. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ : เมื่อผ่านกระบวนการแยกแล้ว จะถูกนำไปทำให้อยู่ในสภาพของแข็ง เรียกว่า น้ำแข็งแห้ง นำไปใช้ในอุตสาหกรรมถนอมอาหาร อุตสาหกรรมน้ำอัดลมและเบียร์ ใช้ในการถนอมอาหารระหว่างการขนส่ง นำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำฝนเทียม และนำไปใช้สร้างควันในอุตสาหกรรมบันเทิง อาทิ การแสดงคอนเสิร์ต หรือการถ่ายทำภาพยนต์
          ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีแหล่งก๊าซของตัวเอง เมื่อแยกก๊าซอื่น ๆ ออกไปแล้วก็จะนำส่วนที่มีปริมาณก๊าซ มีเทนมากนี้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ เดิมเรียก ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas “CNG”) แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น ก๊าซธรรมชาติสำหรับ ยานพาหนะ หรือ Natural Gas For Vehicles “NGV” หรือที่เรียกกันว่า เอ็นจีวี) ซึ่งสำหรับในประเทศไทยของเราก็ได้มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้พลังงานสะอาดในยานพาหนะ โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการทดลองการดัดแปลงเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลัง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ประโยชน์และโทษของแก๊สหุงต้ม


ประโยชน์โดยทั่วไปของแก๊ส
1. ใช้ในครัวเรือน ประกอบอาหาร ทำน้ำร้อน อบเสื้อผ้า
2. ใช้ยานพาหนะ ประหยัดเงินกว่าใช้น้ำมันเบนซิน
3. ด้านพาณิชยกรรม ภัตตาคาร อุตสาหกรรม โรงแรม ร้านขนมปัง
4. ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น

  • โรงงานเครื่องปั้นดินเผา เซรามิค ผลิตภัณฑ์กระป๋อง
  • อุตสาหกรรมแก้ว อุตสาหกรรมอาหาร อบสี
  • อุตสาหกรรมผ้า อุตสาหกรรมโลหะ
ประโยชน์และข้อดีของการใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือน
1. เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดและสะดวกต่อการใช้
2. ไม่มีเขม่าและขี้เถ้าให้เป็นที่น่ารำคาญ
3. ถังเก็บเชื้อเพลิงใช้พื้นที่น้อย
4. จุดไฟติดและดับได้ง่ายทันใจ
5. หุงต้มอาหารสุกได้เร็วกว่าฟืนถ่าน
6. ปรับเร่งหรือหรี่ไฟได้ตามต้องการ
7. เป็นเชื้อเพลิงที่เราผลิตได้เองจากทรัพยากรธรรมชาติ
8. ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า
9. เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
         
แก๊สหุงต้มบรรจุอยู่ในถังโลหะ             กระบวนการบรรจุแก๊สลงถังต้องได้มาตรฐาน


โทษของแก๊สหุงต้ม
1. เมื่อหายใจเข้าไปมาก ทำให้เป็นลมหมดสติได้
2. เมื่อน้ำแก๊สสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ส่วนนั้นจะเย็นจัดถึงไหม้ได้
3. เมื่อน้ำแก๊สถูกตา ตาอาจพิการได้
 

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อผลกระทบต่ะสิ่งแวดล้อม

ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อการจัดการและดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น
ปัจจุบันกิจการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน  เพื่อให้การดำเนินงานในทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง ทั้งนี้ก็รวมถึงทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งนอกจากที่ผู้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายปิโตรเลียมแล้ว ยังจะต้องดำเนินการให้มีการจัดทำรายงานแผนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (SEM) ก่อนการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน การศึกษาและจัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ก่อนการเจาะ และการผลิตปิโตรเลียม ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกด้วย


อุปกรณ์พื้นฐานที่เพิ่มความปลอดภัยต่อการขุดเจาะ
ปัจจุบันในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น บังคับให้มีการจัดทำแผนรับมือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาทิเช่น การพลุ่งทะลักของน้ำมัน ณ แท่นขุดเจาะ การรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ท้องทะเล และเหตุเพลิงไหม้ ณ แท่นผลิต ที่อาจจะส่งผลอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงได้ โดยแผนรับมือนั้น จะต้องมีการจัดเตรียมและซักซ้อมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างทันท่วงทีและเต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์

แล้วกรณีเกิดเหตุการไม่คาดฝันขึ้นล่ะ??
ปัจจุบันในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น บังคับให้มีการจัดทำแผนรับมือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาทิเช่น การพลุ่งทะลักของน้ำมัน ณ แท่นขุดเจาะ การรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ท้องทะเล และเหตุเพลิงไหม้ ณ แท่นผลิต ที่อาจจะส่งผลอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงได้ โดยแผนรับมือนั้น จะต้องมีการจัดเตรียมและซักซ้อมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างทันท่วงทีและเต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ฝูงปลาอาศัยอยู่อย่างชุกชุมรอบแท่นผลิตปิโตรเลียมในทะเล ที่นับวันแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าบริเวณรอบแท่นผลิตนั้น สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และยังคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้อย่างดี
ประเทศไทยกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ประเทศไทยก็เฉกเช่นทุกประเทศในโลกที่มีความต้องการทางพลังงานที่สูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นการสำรวจค้นหาเพื่อให้มีแหล่งและปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการใช้จึงมีความสำคัญ จำเป็นและจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดไป  อย่างไรก็ตาม ในการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งดำเนินอยู่ทั้งในพื้นที่บนบกและในทะเล ก็อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น จะก่อให้เกิดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ดำเนินการหรือไม่ มีความเสี่ยงต่ออันตรายหรือความไม่ปลอดภัยแบบไหนบ้าง
ข้อเท็จจริงที่จะสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในราชอาณาจักรไทยนั้น การดำเนินงานในทุกขั้นตอนของผู้รับสัมปทานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและจริงจังของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ ภายใต้ข้อกำหนดทั้งของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
รายงานการวิเตราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการเจาะหลุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะต้องประกอบด้วยงานต่อไปนี้
  1. รายละเอียดโครงการ / กิจกรรมโครงการของเสียและการจัดการ
  2. สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ด้านกายภาพ ชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
  3. กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็น และการสำรวจทัศนคติผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
  4. การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ อย่างเป็นระบบถูกต้อง และโปร่งใส
  5. มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการการติดตามตรวจสอบ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ


นโยบายและมาตรการป้องกันเรื่องสิ่งแวดล้อม
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้กำหนดไว้ว่า  “ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการในด้านการป้องกันและบำบัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมโดยต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากล” 
และตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้กำหนดว่า
“ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องป้องกันโดยดำเนินมาตรการอันเหมาะสมตามวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดีเพื่อมิให้ที่ใดโสโครกด้วยน้ำมัน โคลนหรือสิ่งอื่นใด ในกรณีที่ที่ใดเกิดความโสโครกด้วยน้ำมัน  โคลน  หรือสิ่งอื่นใดเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัมปทานต้องบำบัดปัดป้องความโสโครกนั้นโดยเร็วที่สุด ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการหรือดำเนินการดังกล่าวจนเกิดความล่าช้า หรือหากไม่ดำเนินการทันที อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีมอบหมายอาจเข้าดำเนินการบำบัดปัดป้องความโสโครกนั้นแทนหรือร่วมกับผู้รับสัมปทาน โดยผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด”
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำหนดแนวทางและมาตรการให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการ

เลขออกเทนและเลขซีเทน

เลขออกเทน (Octane number) คือ ค่าตัวเลขที่แสดงเป็นร้อยละโดยมวลของไอโซออกเทนในของผสมระหว่างไอโซออกเทนและเฮปเทน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้
เลขออกเทนเป็นตัวเลขที่ใช้บอกคุณภาพของน้ำมันเบนซินในรถยนต์



น้ำมันเบนซิน ที่มีสมบัติการเผาไหม้เช่นเดียวกับไอโซออกเทนหมด เรียกน้ำมันเบนซินนั้นว่ามีเลขออกเทนเป็น 100
น้ำมันเบนซิน ที่มีสมบัติการเผาไหม้เช่นเดียวกับเฮปเทนหมด เรียกน้ำมันเบนซินนั้นว่ามีเลขออกเทนเป็น 0
น้ำมันเบนซิน ที่มีเลขออกเทน 70 คือ น้ำมันเบนซินที่มีสมบัติการเผาไหม้เช่นเดียวกับเชื้อเพลิงที่มีไอโซออกเทนร้อยละ 70 และเฮปเทนร้อยละ 30 โดยมวล
อนึ่งน้ำมันเบนซินในปัจจุบันมักจะพบว่ามีเลขออกเทนต่ำ เพื่อปรับปรุงน้ำมันให้มีเลขออกเทนสูงขึ้นด้วยการเติมเตตระเอธิลเลด (CH3CH2)4 Pb ย่อว่า TEL ลงในน้ำมันเบนซิน ทำให้น้ำมันมีเลขออกเทนสูงขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดสาร Pb เป็นสารมลพิษ

เเลขซีเทน (Cetane number) คือ ค่าตัวเลขที่แสดงเป็นร้อยละโดยมวลของซีเทน ในของผสมระหว่างซีเทน (C16H34) และแอลฟาเมทิลแนฟทาลีน (C11H10) ซึ่งเกิดการเผาไหม้หมด

เลขซีเทนเป็นตัวเลขที่ใช้บอกคุณภาพของน้ำมันดีเซล
น้ำมันดีเซลที่มีเลขซีเทน 100 คือ น้ำมันดีเซลที่มีสมบัติการเผาไหม้เช่นเดียวกับซีเทน 100% โดยมวล
น้ำมันดีเซลที่มีเลขซีเทน 0 คือ น้ำมันดีเซลที่มีสมบัติการเผาไหม้เช่นเดียวกับแอลฟาเมทิลแนฟทาลีน 100% โดยมวล
น้ำมันดีเซลที่มีเลขซีเทน 80 คือ น้ำมันดีเซลที่มีสมบัติการเผาไหม้เช่นเดียวกับซีเทนร้อยละ 80 โดยมวล ในการผสมระหว่างซีเทน และแอลฟาเมทิลแนฟทาลี